Health4senior

โรคเบาหวาน

เบาหวาน (Diabetes mellitus: DM, Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายทำให้ตับอ่อนมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา จะส่งผลแทรกซ้อนก่อให้เกิดภาวะต่าง ๆ และโรคตามมาอีกหลายโรค เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไตเสื่อม ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากบางคนไม่มีอาการ การเรียนรู้เรื่องโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ชนิดของเบาหวานและสาเหตุ

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยมีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาต่างกัน
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I  DM) พบประมาณ 5% ของเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือผลิตไม่ได้เลย แพทย์เชื่อว่าร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านการทำงานของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้พบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นส่วนใหญ่ โรคเบาหวานชนิดนี้ จะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินทุกวันเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II  DM) พบประมาณ 90 – 95% ของเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือผลิตได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับปกติได้
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) พบประมาณ 2 – 5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์ร่างกายหญิงจะมีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด โดยบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนกลายเป็นเบาหวาน ทั้งนี้ภายหลังการคลอดบุตร ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติ

 

อาการ

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ ที่เป็นผลจากเบาหวานจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายเป็นกรด โดยมีระดับน้ำตาลและคีโตน (Ketone) ในเลือดสูง สืบเนื่องจากการขาดอินซูลิน
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นน้อย ๆ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือ ตรวจร่างกายประจำปี สำหรับในรายที่มีอาการผิดปกติอาจพบอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะในตอนกลางคืน กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งมีอาการสายตามัว เห็นภาพไม่ชัด ปัสสาวะมีมดขึ้น (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 mg/dL) ทั้งนี้อาการมักค่อยเป็นค่อยไป กรณีที่เป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวอาจลดจากการที่ร่างกายหันมาใช้พลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ
ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในภาวะเบาหวานมานานและไม่รู้ตัว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น อาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนปลายมือปลายเท้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัว ฯลฯ

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด โดยแพทย์สามารถเลือก

  • ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดง การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบเจาะที่แขนหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose: FPG) ถ้ามีค่า 100 – 125 มก./ดล. ถือว่าเป็นระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ เรียกว่า “กลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน” ซึ่งต้องตรวจยืนยันซ้ำด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral glucose tolerance test: OGTT). ทั้งนี้การทดสอบความทนต่อน้ำตาล (OGTT) เป็นวิธีทดสอบโดยการให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง (ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล. แต่ถ้ามีค่า 140 – 199 มก./ดล. จะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน และถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไป จะถือว่าเป็นเบาหวาน) แต่วิธีนี้จะใช้เฉพาะในรายที่ตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงผิดปกติ (IFG) และหญิงหลังคลอดที่เคยตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM)
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดง การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มตรวจ คือ ตรวจได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไป ก็จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน.
    นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ ประกอบไปด้วยตามความเหมาะสม เช่น

    •  การตรวจปัสสาวะเพื่อดูน้ำตาลในปัสสาวะ
    • การตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1c : HbA1c) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5% แต่ถ้ามีค่าอยู่ที่ 5.7 – 6.4% จะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน)
    • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
    • การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อจอตา

 

การรักษา

เป้าหมายของการรักษาเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 หรือ 2 คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ ถ้าไม่ได้ผล แพทย์จะค่อย ๆ ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ แพทย์อาจเพิ่มยาชนิดที่ 2 หรือ 3 ก็ได้

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1

  • ยาฉีดอินซูลินโดยเลือกชนิดและขนาดของยาให้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาจฉีดให้วันละ 1 – 4 ครั้ง ตามสภาพของผู้ป่วย
  • เน้นให้ผู้ป่วยควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยเมื่อปรับยาฉีดจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายแล้ว แพทย์ก็จะสอนให้ผู้ป่วยฉีดยาขนาดนั้นทุกวันไปเรื่อย ๆ และมาพบแพทย์ตามเวลานัด

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
แพทย์จะให้คำแนะนำโดยการให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรม ถ้าภายใน 3 เดือน ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาควบคู่กัน สำหรับยารักษาโรคเบาหวาน ได้แก่

  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น ไกลเบนคลาไมด์ มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน นิยมใช้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ผลข้างเคียงสำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และการแพ้ยา
  • ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanide) เช่น เมทฟอร์มิน มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับและกระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำกลูโคสไปใช้งานได้มากขึ้น แพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และสามารถใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ท้องเสีย ถ้าใช้กับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียหรือยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ยากลุ่มกลิตาโซน (Glitazone) เช่น ยาไพโอกลิตาโซน เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อนำกลูโคสไปใช้งานได้ดีขึ้น สามารถใช้เป็นยารักษาเบาหวานแบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ บวม น้ำหนักตัวขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ขึ้น การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น
  • ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เช่น ยารีพาไกลไนด์ มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน สามารถใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียได้ในทุกกรณี ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การแพ้ยา
  • ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase inhibitor) ได้แก่ ยาอะคาร์โบส มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นิยมใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเสริมยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีลมในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ยาฉีดอินซูลิน (Insulin) ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในบางกรณี เช่น กินยารักษาเบาหวานเต็มที่แล้ว ยังคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยผ่าตัด หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยเบาหวานที่แพ้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน

ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการทานยารักษาเบาหวาน อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ คือทำให้มีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็นเหมือนเวลาหิวข้าวมาก ๆ ถ้าเป็นมาก ๆ อาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือชักได้ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้ป่วยจึงควรระวังอาการในลักษณะดังกล่าว ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการก็ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมทันที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
ผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การตรวจตา การตรวจหัวใจและหลอดเลือด ตรวจความผิดปกติของเท้า เพราะถ้าพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือชะลอความรุนแรงลงได้

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย

ในรายที่เป็นมานาน ผู้ป่วยไม่รู้หรือไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่หาย หากปล่อยทิ้งไว้อาจพบภาวะแทรกซ้อน จากโรคเบาหวาน ที่สำคัญได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy) เกิดจากการที่น้ำตาลคั่งอยู่ในหลอดเลือดฝอยในลูกตา ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ตาเสื่อม ส่งผลให้จอตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมาด้วยการมองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นจุดดำลอยไปมา เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดฝอยไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดไตวาย (Renal failure) ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ขา ซีด อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในแต่ละอวัยวะ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม.ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า มีความเสี่ยงต่อแผลหายช้า อัมพาตกล้ามเนื้อตา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเบ่งปัสสาวะไม่ได้ กระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมถึงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Impotence) ในผู้ชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ การที่หลอดเลือดหัวใจเสื่อมจากภาวะเบาหวานประกอบกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) บางรายมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และในหลายกรณีที่ไม่มีอาการล่วงหน้า ผู้ป่วยมีอาการครั้งแรกเป็นแบบรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจล้มเหลว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) สูง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าบุคคลปกติ 3 – 5 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสน หรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อย ๆ เป็นต้น
  • แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดเลือดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ และติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เกิดแล้วหายช้า อาจลุกลาม รุนแรง เป็นเนื้อตายจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้งได้ โดยเฉพาะแผลที่เท้า

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจเลือด หรือวางแผนการรักษาตามวันเวลานัด การขาดการจริงจังกับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
  • ห้ามซื้อยารับประทานเอง ทั้งนี้ยาสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาล ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงจนอยู่ในระดับผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาจเป็นอันตรายได้ เช่น กรณีน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีอาการหน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ กรณีน้ำตาลในเลือดสูง จะมีอาการของภาวะเบาหวาน ถึงแม้รับประทานยา ทั้งนี้ควรพบแพทย์และรับประทานยาตามที่กำหนด
  • หมั่นตรวจและดูแลเท้าอย่างละเอียดทุกวัน ระวังไม่ให้มีบาดแผลหรือมีการอักเสบ ถ้ามีแผลที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรประคบร้อน
  • คนปกติที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรเจาะเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพี่น้องเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรเจาะเร็วขึ้น บ่อยขึ้น โดยหากพบในระยะเริ่มแรกจะได้วางแผนการรักษาแต่เนิ่น
  • ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากใครที่เป็นโรคอ้วนก็ควรรีบลดน้ำหนัก เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% ฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
  • ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ ลดคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ลดไขมัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวันและไม่หักโหม ทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบเร็วขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. www.mayoclinic.org
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. เบาหวาน. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 473-483

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก