Health4senior

ไข้หวัด

ไข้หวัดหรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่า โดยเฉลี่ยปีละ 6-12 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ติดเชื้อหวัดโดยเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง

 

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิดจาก 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) กลุ่มฮิวแมน พาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Human para-influenza virus) กลุ่มอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) กลุ่มอาร์เอสไวรัส (Respiratory syncytial virus-RSV) กลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus)  กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และกลุ่มเฮิร์บ ซิมเพลคไวรัส (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคหวัดขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากการได้รับเชื้อหวัดหรือเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว หลังจากนั้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น โดยการเกิดโรคหวัดในครั้งต่อไปจะเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผ่านทางการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้ละอองอากาศที่มีเชื้อหวัดลอยเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจติดอยู่ตามข้าวของ เครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส ภายหลังนำมือไปจับบริเวณตา ปาก และจมูกทำให้เชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้พบว่าการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าการหายใจเอาละอองอากาศเข้าไป นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ การอยู่ในสถานที่แออัด ห้องเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสสัมผัส ไอ จามใส่กันได้ง่าย เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหวัดมากขึ้น หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสะสม ผู้ที่ติดบุหรี่ สารเสพติด ล้วนเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์แน่ชัดว่าจากสาเหตุใด อากาศที่เปลี่ยนทำให้ระบบทางเดินหายใจมีความไวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการติดหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูดังกล่าว

 

อาการ

อาการสำคัญของโรคไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะด้วยเล็กน้อย มักเป็นเสมหะขาว เจ็บคอ หายใจไม่สะดวกจากเยื่อบุจมูกบวมหรือน้ำมูกอุดตัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อตัว ในเด็กมักมีไข้ เด็กเล็กอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย วัยผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้หรือไข้อ่อน ๆ

ถ้าเป็นอยู่นานหลายวัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนจากใส เป็นน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว อาจมีไข้สูงขึ้น และอาจมีอาการจากการที่เชื้อติดซ้ำลุกลามไปจนเกิดการอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ทอนซิลบวมโต มีหนองจากการเป็นทอนซิลอักเสบ ปวดมึน หนักหน้าผาก โหนกแก้ม รวมถึงมีเสมหะข้นเหลืองเขียวจากการเป็นไซนัสอักเสบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เสมหะขุ่นข้นจากการเป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์ ผู้ใหญ่มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 2 วัน มีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายไปแล้ว เจ็บคออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีดและหายใจหอบเหนื่อย หรือ ปวดบริเวณโหนกแก้มหรือไซนัส ในเด็กแรกเกิด ถึง 12 สัปดาห์ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 1 วัน อาการของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เด็กมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง  หรือ มีอาการงอแงมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยอาการไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัวจนมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนอาการไข้หวัดทั่วไป จะมีความรุนแรงไม่มาก  มีเพียงอาการ ไข้ ไอและน้ำมูกไหล และเจ็บคอเป็นอาการเด่น

 

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในรายที่มีไข้สูงมาก อาการซับซ้อนหรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่อาการในระยะแรกคล้ายกับโรคหวัด  เช่น ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่น เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ ประวัติการระบาดของโรค และตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหวัดทั่วไป ทั้งนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเบื้องต้นจะแยกได้จากตำแหน่งที่แสดงอาการ เช่น โรคหวัดจะมีอาการทางจมูกเป็นหลัก โรคคอหอยอักเสบจะมีอาการบริเวณลำคอเป็นหลัก โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอเป็นหลัก โดยทั่วไปจะไม่สามารถระบุประเภทของไวรัสได้จากอาการ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก การตรวจเลือด เพื่อใช้ในการยืนยันผล หรือในรายที่มีไข้สูง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดครบ (Complete Blood Count) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจดูค่าเกล็ดเลือด เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

 

การรักษา

ไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา การรักษาจึงไม่มีวิธีการเฉพาะ โดยมักเป็นการปฏิบัติตัวของคนไข้ ร่วมกับการใช้ยาประคับประคองตามอาการ ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จึงจะให้ยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อและน้ำมูก การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ขึ้นสูง
  • อาจมีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ในผู้ใหญ่ ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้  มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ เจ็บคอใช้ยาอม สมุนไพรหรือสเปรย์พ่นคอเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการลงได้
  • ในกรณีที่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ influenza A B แพทย์ สามารถที่จะสั่งยาต้านไวรัส โอเซลตามีเวีย ให้แก่ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ผู้สูงอายุ  ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ หญิงตั้งครรภ์ สำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งจะมียาและอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะจะปลอดภัยที่สุด
  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้และผลข้างเคียงกับผู้รับประทานยา เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจทำให้เกิดภาวะปวดอักเสบนิวโมเนีย โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

บุคคลทั่วไป
  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหวัด โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในข่ายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มิถุนายน ก่อนเข้าหน้าฝน
ผู้ป่วย
  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้
แหล่งข้อมูล
  1. นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจและรักษาโรคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544.
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/common-cold/symptoms-causes/syc-20351605
  3. https://www.medicinenet.com/common_cold/article.htm#what_is_the_common_cold_what_causes_the_common_cold

ภาพประกอบ: www.freepik.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก