Health4senior

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system)

ร่างกายของมนุษย์ทุกคนต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อม ซึ่งมีทั้งที่เหมาะสม ไม่เหมาะสม เป็นภัยหรือไม่เป็นภัยกับร่างกาย โดยร่างกายได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอม ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น จุลินทรีย์โดยเฉพาะที่เป็นเชื้อโรค เซลล์มะเร็ง เซลล์ปลูกถ่าย รวมถึงสารเคมี ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้  ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

  1. ไขกระดูก (Bone marrow) เป็นโพรงที่อยู่ตรงกลางของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกท่อนยาว มีหน้าที่ในการผลิตเม็ดเลือดขาว (White blood cells, Leukocytes) ทุกชนิด รวมถึงเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด
  2. ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมที่เม็ดเลือดขาวชนิดทีลิมโฟไซต์ (T- Lymphocyte) ซึ่งถูกสร้างจากไขกระดูกมาพัฒนาจนสมบูรณ์ ก่อนส่งสู่กระแสเลือด เพื่อทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน
  3. ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นต่อมรูปไข่ กระจายอยู่เป็นระยะตามหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่กรองน้ำเหลือง โดยเป็นที่อยู่ของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ที่คอยทำลายเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะแบคทีเรียที่เข้ามาสู่ร่างกาย รวมถึงการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่หมดอายุ
  4. ม้าม (Spleen) เป็นที่อยู่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) และลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) รวมถึงการทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่หมดอายุ
.

การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

เมื่อร่างกายสัมผัสเชื้อโรค (Pathogen) หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จะมีกลไกการทำงาน อธิบายพอเข้าใจดังนี้
  • ด่านที่ 1 การป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมโดยผิวหนัง เยื่อเมือก สารคัดหลั่ง ขนอ่อน เอนไซม์และอื่น ๆ ตามช่องเปิดเข้าสู่ร่างกาย เช่น ที่ผิวหนังมีการขับกรดบางชนิดออกมากับเหงื่อ ทำให้เหงื่อมีความเป็นกรด สามารถป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ที่โพรงจมูก มีขนอ่อน มีต่อมน้ำมัน ที่เยื่อบุหลอดลม มีขน มีเสมหะ การไอการจามเพื่อไม่ให้เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ ที่ปากมีน้ำลาย กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กมีเอนไซม์ที่มีสภาวะเป็นกรดสามารถทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม รวมถึงการอาเจียนเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินอาหาร ที่ตามีน้ำตาที่มีเอนไซม์สามารถทำลายและขับเชื้อโรคออกจากตา นอกจากนี้ยังมี สารคัดหลั่งในช่องคลอด ความเป็นกรดของปัสสาวะ ซึ่งสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จะมีจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Normal flora) ซึ่งในร่างกายปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรค โดยเชื้อนี้จะคอยแย่งอาหารและที่อยู่ รวมถึงสร้างสารต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคตัวอื่น ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย
  • ด่านที่ 2 การป้องกันโดยการทำงานของเม็ดเลือดขาว ในกรณีที่เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมสามารถผ่านด่านที่ 1 เข้าสู่ร่างกายได้ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ จากนั้นเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ จะร่วมกันทำงานโดยเม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (Phagocyte) ได้แก่ เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) แมคโครฟาจ (Macrophage) และนิวโทรฟิล (Neutrophil) จะเข้าจับกินเชื้อโรค โดยเฉพาะแบคทีเรียเรียก กระบวนการฟาโกไซโตซิส (Phagocytosis) หลังจากนั้นทั้งเชื้อโรคและเม็ดเลือดขาวจะตายแล้วกลายเป็นหนอง  นอกจากนี้ยังมีอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ช่วยขัดขวางการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส เซลล์เอ็นเค (Natural killer cell) ช่วยในการทำลายเซลล์เนื้องอก (Tumor cell) และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส  รวมถึงการมีระบบคอมพลีเมนต์ (complement system) ที่กลุ่มของโปรตีนในซีรัมหรือน้ำเลือด ช่วยให้แบคทีเรียที่มีแอนติบอดี (Antibody) เกาะอยู่ ถูกเซลล์จับกินได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้กลไกการป้องกันในด่าน 1 และด่าน 2 นั้น ถือเป็นกลไกการป้องกันแบบไม่เฉพาะเจาะจง (Nonspecific defense mechanism) มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล
  • ด่านที่ 3 การป้องกันโดยการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม เรียก แอนติเจน (Antigen) แบบเฉพาะเจาะจง โดยในขั้นตอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทั้งชนิดบี (B-lymphocyte) และชนิดที (T-lymphocyte)โดยบี ลิมโฟไซต์ เมื่อสัมผัสแอนติเจนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์พลาสมา (Plasma cell) เพื่อทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี เรียก อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin)  เพื่อตอบสนองต่อแอนติเจนแต่ละชนิดอย่างจำเพาะเจาะจง ปกติร่างกายจะสามารถสร้างแอนติบอดีได้ภายใน 14 วัน ขึ้นกับชนิด ปริมาณและวิธีการเข้าสู่ร่างกายของแอนติเจนนั้นๆ นอกจากนี้บางส่วนของบี ลิมโฟไซต์ ยังเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เมมเมอรี่ (Memory cell) เพื่อจดจำแอนติเจนที่เคยเข้ามา และสร้างแอนติบอดีได้เร็วขึ้นหากมีเชื้อเดิมเข้ามาในร่างกายอีก สำหรับที ลิมโฟไซต์จะมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเซลล์ที ที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม (Cytotoxic T-cell, CD8+) มีหน้าที่ตรวจจับและทำลาย เซลล์มะเร็งเซลล์ติดเชื้อไวรัส เซลล์จากอวัยวะปลูกถ่าย เป็นต้น กลุ่มที่สองเซลล์ที ผู้ช่วย (Helper T-cell, CD4+) มีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ และกลุ่มที่ 3 เป็นเซลล์ที กดภูมิคุมกัน (suppressor T-cell) มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ให้มีการตอบสนองมากเกินไป
.

การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

นอกเหนือจากภูมิคุ้มกันที่ได้มาตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายยังสามารถรับภูมิคุ้มกันได้หลังจากคลอด (Acquired immunity) แบ่งเป็น 2 ชนิด
  • ภูมิคุ้มกันก่อเอง (Active immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดจากร่างกายได้รับแอนติเจน หรือเชื้อโรคที่อ่อนกำลังลง จนไม่สามารถทำอันตรายต่อสุขภาพ โดยการนำมาฉีด กิน หรือทาที่ผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนไอกรน โปลิโอ วัณโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น
  • ภูมิคุ้มกันรับมา (Passive immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการสกัดจากเลือดของสิ่งมีชีวิต แล้วนำมาฉีดให้ร่างกายต้านทานโรคได้ทันที เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก คอตีบ เป็นต้น หรือการได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ตั้งเเต่อยู่ในครรภ์
.

โรคระบบภูมิคุ้มกันที่พบบ่อย

โรคภูมิแพ้   โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง   โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • โรคภูมิแพ้ เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อการถูกกระตุ้น โดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ผง  เชื้อรา ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ อาหารบางอย่าง ซึ่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ สารเหล่านี้จะไม่มีอันตรายใด ๆ โรคภูมิแพ้จัดเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย
  • โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมีความผิดปกติ โดยจะต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อ อวัยวะของตนเอง ผู้ป่วยอาจมีอาการ ผื่นแดงตามใบหน้า ตาแห้ง ตัวบวม ขาบวม ปวดหัว ปวดบวมตามข้อต่อกระดูก ผมร่วง สมอง และระบบประสาทเสียหาย เป็นต้น โรคนี้มีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือ โรคภูมิแพ้ เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematous: SLE)
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง ทำให้เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าปกติ อาการมักจะรุนแรง เรื้อรังและเสียชีวิตในที่สุด

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.livescience.com  www.britannica.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก: www.shutterstock.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก