Health4senior

ระบบอวัยวะ (Organ system) ในร่างกายมนุษย์

จากองค์ประกอบพื้นฐานของร่างกาย ที่เริ่มจาก เซลล์ (Cell) โดยเซลล์หลาย ๆ เซลล์รวมกลุ่มเป็นเนื้อเยื้อ (Tissue)  เนื้อเยื้อหลาย ๆ ประเภทจะรวมกลุ่มเป็นอวัยวะ(Organ) และอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะจะทำหน้าที่ประสานกันเป็นระบบอวัยวะ (Organ System) โดยระบบทุกระบบจะทำงานประสานกันเพื่อให้ร่างกาย (Body) อยู่ได้

ระบบอวัยวะในร่างกายคนเรา สามารถแบ่งตามหน้าที่ได้หลายระบบ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร  ระบบต่อมไร้ท่อ  ระบบผิวหนัง  ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท  ระบบสืบพันธุ์ ระบบหายใจ  ระบบโครงร่าง ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบน้ำเหลือง  ระบบขับถ่าย โดยในการทำงาน ถ้าระบบใดระบบหนึ่งผิดปรกติ ร่างกายก็จะแสดงความผิดปรกติออกมา เช่น มีอาการ หรือเป็นโรค

 

หน้าที่ของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulatory system)
มีหน้าที่ในการเคลื่อนย้าย เลือด สารอาหาร ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์และฮอร์โมนไปทั่วร่างกาย โดยมีอวัยวะประกอบด้วย หัวใจ ลือด หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ หลอดเลือดฝอย โดยเลือดดำ หรือเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย จะไหลเข้าสู่หัวใจทางห้องบนขวา หลังจากนั้นจะบีบตัวส่งเลือดสู่หัวใจห้องล่างขวา เพื่อบีบตัวส่งเลือดไปยังปอด
โดยเลือดดำจะผ่านเข้าไปในเส้นเลือดฝอยรอบๆถุงลมปอด แล้วส่งผ่านคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับถุงลมปอด พร้อมรับออกซิเจนเข้ามาแทน เป็นผลให้เลือดดำกลายเป็นเลือดแดง หรือเลือดที่มีออกซิเจนสูง หลังจากนั้นจะไหลออกจากปอด กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย ต่อมายังหัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย อ่านต่อ

ระบบย่อยอาหาร (Digestive system)
เป็นกลุ่มอวัยวะที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน มีหน้าที่ในการแปรสภาพอาหารที่บริโภคซึ่งมีโมเลกุลขนาดใหญ่ เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล ซึ่งร่างกายดูดซึมไม่ได้ ให้กลายเป็นสารอาหารที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก ร่างกายดูดซึมได้ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กลีเซอรอล และกรดไขมัน นอกจากนี้แล้วยังมีหน้าที่ในการกำจัดของเสียอีกด้วย
สำหรับกระบวนการแปลสภาพอาหารจากโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมได้ หรือการย่อยอาหารนั้น ต้องอาศัยการย่อยเชิงกล และการย่อยในทางทางเคมีของน้ำย่อย จากอวัยวะที่อยู่ในระบบ ประกอบด้วยปากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก โดยมีตับสร้างน้ำดีช่วยการทำงานของน้ำย่อยไขมัน และตับอ่อนสร้างน้ำย่อยส่งให้กับลำไส้เล็ก อ่านต่อแนะนำอ่าน กินน้อย อายุยืนยาว, กินมัง เลือกได้หลายแบบ, 8 เคล็ดลับ การเลือกอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system)
ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่สร้างและหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมน(hormone) แล้วส่งออกนอกตัวซลล์ ผ่านทางกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปควบคุมเซลล์ที่อวัยวะเป้าหมาย เช่น ควบคุมการเผาผลาญอาหาร ควบคุมการเจริญเติบโต ควบคุมระบบสืบพันธ์ ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น ประกอบไปด้วย 8 ต่อมใหญ่ๆ ได้แก่ ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) ตับอ่อน (Pancreases) ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ต่อมเพศ (Gonad) และต่อมเหนือสมอง (Pineal gland) อ่านต่อแนะนำอ่าน ฮอร์โมน เคมีวิเศษในร่างกาย

ระบบผิวหนัง (Integumentary system)
ช่วยปกป้องร่างกายจากโลกภายนอก และป้องกันขั้นแรกต่อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อก่อโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและกำจัดของเสียผ่านเหงื่อ มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อห่อหุ้มร่างกาย จึงเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ตารางนิ้ว มีความหนาระหว่าง 1-4 มิลลิเมตร แตกต่างกันไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยผิวหนังส่วนที่หนาที่สุด คือ บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนที่บางที่สุด คือ บริเวณหนังตาและหนังหู ภายในผิวหนังนั้นมีปลายประสาทรับความรู้สึก เพื่อรับรู้การสัมผัส ความเจ็บปวด อุณหภูมิร้อนและเย็น นอกจากนี้ยังมีรูเล็ก ๆ ที่เรียกว่า รูขุมขน เป็นรูเปิดของขุมขน ท่อต่อมไขมันและต่อมเหงื่อผิวหนัง อ่านต่อ

ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system)
ร่างกายประกอบด้วยกล้ามเนื้อประมาณ 650 มัด ช่วยในการเคลื่อนไหว การหมุนเวียนโลหิต และการทำงานอื่นๆของร่างกาย โดยมีกล้ามเนื้ออยู่ 3 แบบ คือ
1) กล้ามเนื้อลาย (Skeleton muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ มีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ ปกติกล้ามเนื้อประเภทนี้ทั้งมัดจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดย่อยๆ และแต่ละมัดย่อยประกอบด้วยใยกล้ามเนื้อ ซึ่งแต่ละใยยังประกอบไปด้วยใยฝอย ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น แข็งแรงและทนทาน
2) กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) ทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ พบในอวัยวะภายในของร่างกาย มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายสารผ่านอวัยวะต่างๆ โดยมีลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์และทางสรีรวิทยาแตกต่างกัน และ
3) กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) ทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ มีหน้าที่ช่วยในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อ่านต่อ

ระบบประสาท (Nervous system)
เป็นระบบที่ควบคุมการทำหน้าที่ของทุกระบบในร่างกาย ให้ทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการจัดการ ความคิด ความรู้สึก สติปัญญา ความฉลาดไหวพริบ การตัดสินใจ การใช้เหตุผลและการแสดงอารมณ์ สามารถแบ่งได้เป็น ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system – CNS) ประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง
ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system – PNS) ประกอบด้วยเส้นประสาทและนิวรอนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลายยังสามารถแบ่งออกเป็นระบบประสาทที่อยู่ในอำนาจจิตใจ (Voluntary nervous system)
ระบบประสาทที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary) หรือระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ซึ่งแบ่งย่อยเป็นระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nervous System) และระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system) อ่านต่อแนะนำอ่าน 15 เคล็ดลับ พัฒนาสมองให้ไบรท์อยู่เสมอ

ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system)
ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ โดยต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนไฮโพทาลามัส จะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศให้ผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นหนุ่มสาวพร้อมที่จะสืบพันธุ์ โดยระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วย อวัยวะเพศชายและอัณฑะ ซึ่งผลิตตัวอสุจิ (Sperm) และฮอร์โมนเพศ ที่สำคัญคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
ส่วนระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ภายในประกอบด้วยช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ซึ่งผลิตไข่ (Ovum) และฮอร์โมนเพศ หลักๆคือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยในการร่วมเพศ เพศชายจะหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิง อสุจิจะเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอดและปากมดลูกเข้าไปในมดลูกหรือท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับไข่ หลังการปฏิสนธิและฝังตัวจะเกิดการตั้งครรภ์ของทารก อ่านต่อ แนะนำอ่าน ยิ่งสูงวัย….ทำไมถึงจุดสุดยอดยากจัง

ระบบหายใจ (Respiratory system)
เป็นระบบที่ทำให้ร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปส่งที่ปอด โดยจะมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างถุงลมปอดกับหลอดเลือดฝอยปอด หลังจากนั้นออกซิเจนจะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ผ่านทางหลอดเลือดจากปอดกลับสู่หัวใจห้องบนซ้าย ภายหลังหัวใจปั้มเลือด ออกซิเจนจะถูกพาไปยังเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย เกิดขบวนการเมตาบอลิซึมหรือการหายใจระดับเซลล์ ทำให้ร่างกายอบอุ่น และได้สาร ATP ที่นำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆของเซลล์ โดยขบวนการนี้จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะถูกลำเลียงผ่านหลอดเลือดสู่ปอดในการหายใจออก อวัยวะที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย จมูก ปาก คอหอย หลอดลม ท่อลม ถุงลม เป็นต้น อ่านต่อ

ระบบโครงร่าง (Skeleton system)
ประกอบด้วยกระดูก (Bone) 206 ชิ้น เป็นกระดูกแกนกลาง 80 ชิ้นกระดูกรยางค์ 126 ชิ้น เชื่อมต่อด้วยเส้นเอ็น (Tendon) และกระดูกอ่อน (Cartilage) โดยเส้นเอ็นมีลักษณะเป็นเส้นใยเหนียวและมีความแข็งแรง มีทั้งที่เป็นเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon)  และเอ็นยึดข้อ (Ligament) สำหรับกระดูกอ่อนจะอยู่ที่ปลายหรือหัวของกระดูกที่ประกอบเป็นข้อต่อ (Joints) เพื่อป้องกันการเสียดสีของกระดูกด้วยกัน หน้าที่ของระบบโครงร่าง จะเป็นการรองรับอวัยวะต่างๆ ให้ทรงและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ปกป้องอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ช่วยร่างกายให้เคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเก็บรักษาแคลเซียม รวมถึงไขกระดูก (Bone marrow) ยังเกี่ยวข้องในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดอีกด้วย อ่านต่อแนะนำอ่าน วิตามินดี เพื่อนแสนดีสำหรับผู้สูงอายุ

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system)
การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมของคนเรา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับสภาพที่ไม่เหมาะสม และอาจเป็นอันตราย เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี เชื้อก่อโรค เป็นต้น ปกติร่างกายจะมีระบบที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เช่น มีผิวหนัง มีขน มีเยื่อเมือก มีน้ำตา มีสภาพกรด ด่าง ต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีบางโอกาสที่สิ่งแปลกปลอมสามารถเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น เกิดโรค เกิดการแพ้ และอื่น ๆ ร่างกายจึงมีระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยต่อต้านและกำจัดสิ่งแปลกปลอม ให้คนเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปได้อย่างปกติ และมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system)
ประกอบด้วยน้ำเหลือง หลอดน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง โดยมีบทบาทในการนำของเหลวที่อยู่ระหว่างเซลล์ หรืออยู่รอบ ๆ เซลล์ รวมถึงเม็ดเลือดขาวบางชนิด กลับเข้าสู่หัวใจทางหลอดเลือดดำใหญ่ โดยน้ำเหลืองจะคล้ายพลาสมาแต่มีโปรตีนน้อยกว่า และมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันตามอวัยวะที่เป็นแหล่งที่มา เช่น น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณลำไส้เล็ก  จะมีไขมันสูง น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณต่อมน้ำเหลืองจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สูง โดยระหว่างทางที่น้ำเหลืองไหลไปตามหลอดน้ำเหลืองตามการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ นั้น จะพบต่อมน้ำเหลืองอยู่ระหว่างจุดรวมของหลอดน้ำเหลืองทั่วไปในร่างกาย  เช่น บริเวณที่รักแร้และขาหนีบ ภายในจะมีเม็ดเลือดขาว ชนิดลิมโฟไซต์ ซึ่งจะกรองแบคทีเรียและสิ่งแปลกปอลม ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด

ระบบขับถ่าย (Digestive system)
เป็นระบบที่ร่างกายขับถ่ายของเสีย จากกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งของเสียนั้น มีทั้งในส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมีประโยชน์แต่ร่างกายมีมากเกิน จนร่างกายต้องมีการขับออก เช่น ยูเรีย แอมโมเนีย กรดยูริค ทั้งนี้ร่างกายจะมีการขับถ่ายของเสียที่เป็นก๊าซออก ทางปอด ผ่านลมหายใจออก ขับถ่ายของเสียที่เป็นน้ำ 2 ช่องทาง คือ ทางผิวหนังผ่านเหงื่อ และทางไตผ่านปัสสาวะขับถ่ายของเสียที่เป็นของแข็ง ทางลำไส้ใหญ่ผ่านอุจจาระ ทั้งนี้ในการขับถ่ายของเสีย ร่างกายมักจะมีการสูญเสียน้ำไปตามช่องทางเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการดื่มหรือรับน้ำเข้าไปใหม่ ให้มีความสอดคล้องกันกับปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสียจากการขับถ่ายด้วย

 

เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:  www.livescience.com   www.thoughtco.com   th.wikipedia.org

ภาพประกอบจาก: อินเตอร์เน็ต

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก