แฟชั่นและสไตล์ไม่มีคำว่าผิดหรือถูก แต่การที่จะแต่งกายออกมาให้ดูดี เป็นที่เจริญตานั้น ความเหมาะสมคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องกลับมาย้อนถามตัวเองว่า ทุกวันนี้คุณได้เลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับตัวเองแล้วหรือยัง โดยเฉพาะในหนุ่ม ๆ รุ่นใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง เรื่องการแต่งกายและบุคลิกภาพเป็นสิ่งพื้นฐานที่ไม่ควรพลาด เรามาดูคู่มือในการแต่งชุดสูทแบบง่าย ๆ ที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริงกันดีกว่า
1. สไตล์สร้างได้จากโทนสีพื้น ๆ
บางคนอาจชอบสีสันจัดจ้าน แบบเสื้อแปลกแหวกแนว แต่ในความเป็นจริงแล้วการเลือกอะไรที่เป็นพื้นฐานจะมีความคลาสสิคและสื่อความเป็นตัวตนของคุณได้มากกว่า เพราะการตามแฟชั่นมากจนเกินไปอาจทำให้คุณพลาด….แล้ววัยรุ่นพี่แบบนี้ถ้าแต่งตัวพลาดทีราศีคุณต้องหมองแน่ ๆ ดังนั้นเวลาเลือกชุดสูท แนะนำว่าเอาโทนสีพื้นฐาน ดำ เทาอ่อน เทาเข้ม กรมท่า น้ำตาลและขาว ประมาณนี้ติดตู้เสื้อผ้าเอาไว้ การมีโทนสีพื้นฐานทำให้คุณอุ่นใจ และถ้าวันไหนเกิดนึกอยากตามเทรนด์ขึ้นมา แทนที่จะเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด ก็ลองเอาของเก่าที่มีไปผสมดู เช่น เอาสูทเก่าไปใส่กับกางเกงยีนส์ หรือช่วงนี้ Color blocking กำลังมา ก็เปลี่ยนเฉพาะเนคไทเป็นสีฉูดฉาด เป็นต้น
2. ลงทุนกับรองเท้าและเข็มขัด
แม้ตลอดมาคุณจะใช้ชีวิตอย่างประหยัด รู้จักการวางแผนค่าใช้จ่ายแบบสุด ๆ ในเรื่องเครื่องแต่งกาย แต่พึงสังวรณ์ไว้เลยว่า รองเท้า และเข็มขัด รวมไปจนถึงเครื่องแต่งกายอื่น ๆ อย่างเช่น กระเป๋าเงิน หรือกระเป๋าเอกสารนั้นเป็นสิ่งที่ควรต้องลงทุนอย่างมาก เพราะจะเสริมภาพลักษณ์โดยรวมของคุณประมาณ 40% เลยทีเดียว เอาเป็นว่าต่อให้เสื้อยืดขาว กางเกงยีนส์แบบลำลองในวันสบาย ๆ แต่ถ้าสวมรองเท้าหนังขัดเงา พร้อมกระเป๋าหนังแท้ล่ะก็ คุณจะดูภูมิฐานมาก ๆ ถ้าไม่ต้องการซื้อแบบแบรนด์เนมเพราะรู้สึกว่าราคาสูงเกินไป ก็ให้ลองเลือกแบบสั่งตัดที่มีราคารองลงมา แต่ย้ำว่าทุกวัสดุควรใช้ของแท้
3. Popular ไม่ใช่ Papa
แต่งสูทให้ดูเป็นหนุ่มรุ่นใหญ่ที่ป็อป ไม่ใช่แนวคุณพ่อ เน้นชุดสูทพอดีตัว อย่ารัดติ้วจนแน่นทำให้อึดอัด หรือใหญ่โคร่งจนน้อง ๆ ที่ทำงานรู้สึกเหมือนคุณกำลังมีสภาพเดียวกับคุณพ่อที่บ้าน อย่าลืมว่าคุณคือรุ่นพี่ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ไม่ใช่หนุ่มน้อยที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวแล้ว แยกแยะให้ถูกว่าสูทแบบไหนเป็นแบบ American style หรือ English style แบบไหนที่เหมาะกับคุณ และงานแบบไหนควรแต่งกายอย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่กาละเทศะ ลองนึกภาพงานกาล่าผู้ถือหุ้นในบริษัทสุดหรู คุณและกลุ่มผู้ลงทุนใส่ทักซิโด้ ในขณะที่พวกเด็ก ๆ ใส่สูทธรรมดา…เพียงเท่านี้ก็เห็นความต่างแล้ว
4. รู้ว่าเครื่องแต่งกายแบบไหนที่ไม่ใช่
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะบางอย่างที่คุณชอบ ถึงจะแต่งออกมาดูดีแต่ไม่ได้แปลว่าควรนำมาสวมใส่เวลาเจอหน้าคนในแวดวงสังคม ไอเทมส์ที่ไม่เหมาะกับหนุ่มรุ่นใหญ่มักจะเป็น กางเกงขาเดฟ, เสื้อเชิ้ตแบบพิมลายกราฟิตี้ (ถ้าคุณอยากใส่เลื้อลาย ลองดูพวกลายปริ้นแนวฮาวายหรือซาฟารี), เสื้อมีฮู้ด เป็นต้น ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านี้เราประมวลมาจากการที่แบรนด์ดังระดับโลกหลายแบรนด์มักไม่ออกแบบเสื้อผ้าแนวนี้ไว้ในคอลเล็คชั่นผู้ชายที่เน้นความ Hi-end ถ้าคุณอยากใส่สไตล์นี้จริง ๆ เก็บไว้ในวันส่วนตัวที่ไม่ได้พบลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานจะดีกว่า
5. หลักการพื้นฐานของสูทต้องรู้
ในชุดสูทหนึ่งชุดประกอบด้วยอะไรบ้าง ควรศึกษาให้ดี สิ่งที่ทำให้คุณแตกต่างจากหนุ่มรุ่นน้องคือยิ่งคุณแต่งได้เนี้ยบถูกต้องตามแบบแผนเท่าไหร่คุณยิ่งดูมีสไตล์มากเท่านั้น ในขณะที่หนุ่มรุ่นน้องเมื่ออยู่ในบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศเมื่อแต่งเยอะเหมือนคุณอาจดูเยอะเกินหน้าตาและตำแหน่งไป…รู้มั้ยว่าไม่ควรกลัดกระดุมเม็ดล่างสุดของชุดสูท และควรปลดกระดุมก่อนนั่งทุกครั้ง ปลายแขนเสื้อเชิ้ตควรโผล่พ้นปลายแขนเสื้อสูทออกมาประมาณครึ่งนิ้ว ความยาวของขากางเกงที่เหมาะสมคือเท่าตาตุ่มของคุณพอดี เป็นต้น
6. เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ
เดี๋ยวนี้มีชุดสูทหลักพันที่คุณภาพดีให้เลือกมากมาย ลองใช้เวลาซักวันเดินช้อปปิ้ง อย่าซื้อของเหมาโหลเด็ดขาด เพราะคุณถึงวัยที่ไม่เหมาะกับการใส่ชุดสูทสำเร็จรูปแล้วล่ะ ควรเลือกแบบสั่งตัด Tailor made, Bespoke หรือ Made-to-order ถ้าเห็นคำประมาณนี้ก็รู้ไว้เลยว่าร้านนั้น ๆ มีบริการสั่งตัดเพื่อให้ได้ชุดสูทที่พอดีและเหมาะสมกับรูปร่างของคุณนั่นเอง
เคล็ดลับทั้ง 6 ข้อนี้ถึงเป็นแนวทงสำคัญในการเลือกชุดสูทให้ดูเนี้ยบ ดูดี สามารถดึงเอาคาแร็คเตอร์ความเป้นตัวตนของคุณออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ลองเอาไปปรับใช้กันดูรับรองว่าจะได้ลุคที่ถูกใจและลงตัวในที่สุดอย่างแน่นอน
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com