Health4senior

วิธีรับมือ 14 อาการปวดที่พบได้บ่อย ติดตามเลย

แน่นอนว่าในชีวิตที่ผ่านมา ทุกคนจะต้องพบเจออาการปวดจุกจิกกับส่วนต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งหากไม่รุนแรง บางครั้งคุณพักผ่อน หรือทานยาแก้ปวดซักเม็ด สองเม็ด แล้วล้มตัวนอนอย่างไม่ใส่ใจ แต่จะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าเราสามารถรับมือกับอาการปวดที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด ติดตาม 14 อาการปวดพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

 

1. อาการปวดจากเอ็นหุ้มข้อและกล้ามเนื้อฉีก

หลาย ๆ คนที่เล่นกีฬาหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับการปวดจากเอ็นข้อฉีก (Sprain) เช่น ข้อเท้าแพลงขณะเล่นกีฬา และเอ็นกล้ามเนื้อฉีก (Strain) จากการถูกดึงหรือยืดอย่างแรง เช่น บาดเจ็บกล้ามเนื้อ จากการเล่นฟุตบอล โดยทั้งสองแบบมักทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบ และบางครั้งสามารถทำให้เกิดรอยช้ำ หรือกล้ามเนื้อกระตุก การรักษาในขั้นต้นให้ใช้หลัก RICE โดย R คือ การพักใช้งานอวัยวะ I คือ การประคบเย็น C คือ การรัดอวัยวะให้อยู่นิ่ง และ E คือ การยกอวัยวะที่เจ็บให้สูงกว่าหัวใจ ทั้งนี้สามารถใช้ยาแก้ปวดที่วางขายอยู่ทั่วไป แต่ถ้าหากคุณมีอาการชาหรือรู้สึกเสียวซ่า ไม่สามารถขยับข้อต่อได้ หรือไม่ดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

2. อาการปวดหัว จากความเครียด

อาการปวดหัวจากความเครียด (Tension headache) ทำให้คุณรู้สึกเหมือนมีอะไรกำลังบีบรัดหัวของคุณอยู่ รับมือเบื้องต้นด้วยยาแก้ปวดที่หาได้ทั่วไป นอนพักผ่อน และดื่มน้ำบ่อย ๆ เพียงเท่านี้ อาการปวดหัวของคุณจะหายไปภายในไม่ถึงชั่วโมง แต่อาจจะมีอาการปวดกลับมาบ้างภายในสองสามวัน โดยเคล็ดลับที่จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการปวดหัวจากความเครียด คือ การพักผ่อนที่เพียงพอ การนวดผ่อนคลาย การปล่อยวางจากความเครียด และการดื่มน้ำมาก ๆ แต่ไม่ใช่น้ำที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

 

3. อาการปวดไมเกรน

การปวดตุบ ๆ บริเวณด้านหน้า หรือด้านข้างของศีรษะจากไมเกรน (Migraine) สามารถกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของคุณได้ โดยคุณอาจจะไม่สบายท้อง ไวต่อแสงสว่าง คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดตา ปวดคอ ปัสสาวะบ่อย สิ่งที่ควรทำคือ หาสถานที่ที่มืดและเงียบสำหรับการพักผ่อน ประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการปวด และใช้แผ่นประคบร้อนช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดธรรมดาสามารถช่วยได้หากคุณเพิ่งเริ่มมีอาการไมเกรน แต่สำหรับบางคนที่อาการปวดไมเกรนมีความรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น

 

4. อาการปวดฟัน

สาเหตุของอาการปวดฟัน อาจมาจากฟันผุ ฟันแตก การอุดฟันที่เสียหาย หรือแม้แต่โรคเหงือก แม้ว่าคุณจะไม่ค่อยปลื้มในการพบเจอทันตแพทย์ แต่ถ้าอาการปวดฟันของคุณกินเวลานานหลายวัน  คุณควรจะตัดสินใจไปพบทันตแพทย์ เพราะคุณอาจติดเชื้อบริเวณที่ปวดจนนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น

 

5. อาการปวดคอ

บริเวณคอคือส่วนที่ได้รับการคุ้มครองน้อยกว่าส่วนของกระดูกสันหลังที่เหลือ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดได้ง่าย โดยอาการปวดคอส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดแค่ชั่วคราว โดยปกติแล้วคุณยังไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ โดยคุณควรให้ความสำคัญกับการจัดวางท่าทางที่ถูกต้องในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ยกของ นอน แม้แต่การเดิน อย่างไรก็ตามการปวดคอเรื้อรังหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ทันที

วิธีรับมือ 14 อาการปวดที่พบได้บ่อย ติดตามเลย

.

6. อาการปวดหลัง

เมื่ออายุคุณเพิ่มขึ้น อาการปวดหลังเหมือนจะกลายเป็นอาการปกติที่จะต้องพบเจอ โดยการปวดหลังอาจเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน การยกของผิดท่า การเป็นโรค เช่น โรคข้ออักเสบ (Arthritis) และมะเร็ง ก็อาจจะส่งผลต่อบริเวณหลังและกระดูกสันหลังของคุณ ท่ายืนก็สามารถทำให้คุณปวดหลังได้เช่นกัน การรักษาอาการปวดหลังส่วนใหญ่ คือ การใช้ยาแก้ปวด การประคบร้อนหรือประคบเย็น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เล่นโยคะและการนวดก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน เหมือนกับทุกข้อควรพบแพทย์ในกรณีที่เป็นเรื้อรังหรือรุนแรง

 

7. อาการปวดไหล่ ภาวะข้อไหล่ติด

อาการปวดไหล่ ซึ่งมักจะปวดมากขึ้นในตอนกลางคืน โดยเฉพาะเมื่อคุณนอนตะแคงข้างไปทับไหล่ข้างที่มีอาการ ความเจ็บปวดจะทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะเมื่อถึงจุดที่คุณข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) ข้อต่อไม่สามารถขยับได้ แก้ไขได้โดยการทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายเล็กน้อย เพื่อทำให้ไหล่สามารถขยับได้มากขึ้นทีละนิด อาการข้อไหล่ติดส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 40-60 ปี และพบมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

 

8. อาการเอ็นอักเสบและไขข้ออักเส

เอ็นอักเสบ (Tendinitis) และไขข้ออักเสบ (Bursitis) จะมีอาการปวดและบวมบริเวณอักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้งานที่มากเกินไป หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณที่เป็นข้อต่อ เช่น บริเวณข้อเท้า ข้อศอก เข่า สะโพก ไหล่หรือข้อมือ กรณีนี้สามารถใช้หลัก RICE โดย R คือ การพักใช้งานอวัยวะ I คือ การประคบเย็น C คือ การรัดอวัยวะให้อยู่นิ่ง และ E คือ การยกอวัยวะที่เจ็บให้สูงกว่าหัวใจ ทั้งนี้หากอาการปวดและบวมมีอาการแย่ลง เช่น บวม ร้อนมากขึ้น ปรึกษาแพทย์ทันที

 

9. อาการข้ออักเสบ

โรคมากกว่า 100 ชนิดก่อให้เกิดอาการปวดข้อ  โดยอาการข้ออักเสบ (Arthritis) จะประกอบไปด้วยการบวม ปวด ตึงและเคลื่อนไหวข้อต่อลำบาก สาเหตุอาจมาจากการเสื่อมจากการใช้งาน หรือเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune system) อาการปวดข้อมักไม่สามารถหายขาด แต่คุณสามารถบรรเทาอาการปวดและปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนในการดูแลได้

 

10. อาการปวดท้อง

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง (Stomachache) รวมถึงอาการอาหารไม่ย่อย การมีแก๊สในกระเพาะอาหาร และท้องผูก ปกติแล้วสามารถใช้ยารักษาอาการในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าหากอาการปวดเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน รุนแรง ต่อเนื่องหลายวัน หรือมีอาการแปลกๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

11. อาการปวดสะโพกลงขา

อาการปวดสะโพกลงขา (Sciatica) ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายทั้งเวลานั่งและยืน โดยคุณอาจรู้สึกอ่อนล้า รู้สึกชาที่บริเวณขา สาเหตุจากการที่เส้นประสาท Sciatic ถูกกระทบกระเทือนหรือกดทับ ทั้งนี้การจามหรือการไอสามารถเพิ่มความปวดได้ อาการปวดสะโพกมักหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ด้วยการพักผ่อน และออกกำลังกายอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าให้ดีการไปพบแพทย์จะทำให้เรามั่นใจได้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดูแลด้วยตัวเองได้

 

12. อาการปวดเส้นประสาท

การรู้สึกเสียวแปล๊บ ร้อนวูบ ชาและอ่อนล้า สามารถเป็นสัญญาณบ่งบอกการมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทได้  ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี สามารถมีอาการปวดเส้นประสาท (Nerve pain) บริเวณมือ เท้า แขน และขา หรือคนที่ป่วยเป็นโรคงูสวัด ผื่นจากไวรัสอีสุกอีใส ก็สามารถนำไปสู่อาการปวดเส้นประสาทได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีปัญหาดังกล่าว คุณอาจมีความผิดปกติในการทำงานของระบบอวัยวะตามมา เช่น ปัญหาการย่อยอาหาร ปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ อาการปวดเส้นประสาทแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อการวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง

 

13. อาการปวดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

ระวังไว้ การวางท่าทางของมือที่ไม่ถูกต้องเมื่อใช้แป้นพิมพ์ และการใช้แป้นพิมพ์ที่มากเกินไป สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติที่เส้นประสาท โดยอาจทำให้เกิดอาการเสียวแปร๊บ ชา ที่นิ้วมือของคุณ สิ่งที่ต้องทำเมื่อมีอาการ คือ พักการใช้ข้อมือ หลีกเลี่ยงการบิดหรือดัดข้อมือซักสองสามสัปดาห์ จากนั้นลองเล่นโยคะ ทำกายภาพบำบัด และการกินยาลดอาการบวมถ้าจำเป็น

 

14. อาการปวดบวมที่เท้า

หากคุณมีอาการปวดบวมที่เท้า สิ่งที่ต้องทำคือ พักการใช้งานและยกเท้าของคุณขึ้น ประคบน้ำแข็งเป็นเวลา 15 – 20 นาที ถ้าคุณจำเป็นต้องยืนบนพื้นแข็งทั้งวัน ควรใส่ถุงเท้าที่รัดกระชับ หรือรองเท้าที่ซัพพอร์ตเท้าของคุณเป็นอย่างดี และควรถอดออกมาพักเท้าบ้างหากคุณสามารถทำได้ ผู้ที่เท้ามีลักษณะแบนหรือมีส่วนโค้งที่ยกสูงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการช้ำบริเวณฝ่าเท้าได้ง่าย การยืดเส้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอาการแบบนี้ ปรึกษาแพทย์เมื่อคุณรู้สึกเจ็บมาก

 

อาการปวดส่วนมากมักจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่พบเจอได้บ่อย การดูแลตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม เมื่อพบเจออาการปวดแบบต่างๆ จะทำให้คุณฟื้นตัวเร็วขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อมีอาการปวด ก็อย่าเพิ่งฝืนใช้ร่างกายมาก และไปพบแพทย์หากมีอาการปวดเรื้อรัง หรือรุนแรง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก