Health4senior

ไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemias)

ภาวะผิดปกติของไขมันในเลือด มีอยู่หลายแบบ  เช่น ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemias) คอเลสเตอรอลในเลือดสูง (Hypercholesterolemia) ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hypertriglyceridemia) ไลโปโปรตีนในเลือดผิดปกติ (Dyslipoprotein) โดยมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งชักนำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ ทั้งนี้ ถ้าพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากขึ้น

 

ไขมันในเลือดที่สำคัญมีหลายชนิด แต่โดยทั่วไปในการตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์จะตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid profile) ใน 4 ค่าหลัก ๆ ดังนี้

  • คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol, TC) เป็นผลรวมของค่าคอเลสเตอรอล แอลดีแอล คอเลสเตอรอล, เอชดีแอลคอเลสเตอรอล, 20% ของค่าไตรกลีเซอไรด์ (แทนวีแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (VLDL-C) ซึ่งคำนวณได้ยาก) โดยค่าปกติควรน้อยกว่า 200 mg/dL
  • แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL-cholesterol) เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ ไขมันชนิดนี้ถ้ามีในเลือดสูงจะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากขึ้น โดยค่าปกติไม่ควรเกิน 100 mg/dL
  • เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่นำโคเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ ส่งผลดีต่อหลอดเลือดแดง เพราะจะป้องกันไม่ให้ไขมันตัวอื่น ๆ ไปพอกสะสมทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง โดยค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dL
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่มีประโยชน์กับร่างกาย ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ทำให้รู้สึกอิ่มท้อง และให้พลังงานเมื่อร่างกายต้องการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบเพิ่มมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 160 mg/dL

ภาวะไขมันในเลือดสูง พบได้บ่อยทั้งชายและหญิง พบมากในคนที่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ คนอ้วน หรือคนที่ชอบกินอาหารพวกไขมันมาก ๆ หรือทำงานเบา ๆ ไม่ค่อยออกกำลังกาย

 

อาการและอาการแทรกซ้อน

โดยปกติแล้วไขมันในเลือดสูงจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น มักจะพบจากผลทางห้องปฏิบัติการระหว่างการตรวจเช็กสุขภาพหรือขณะมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อัมพาต ฯลฯ โดยในรายที่มีภาวะไขมันสูงมาก ๆ อาจพบตุ่มหรือแผ่นเนื้อเยื่อไขมันบนผิวหนัง บริเวณหนังตา คอ หลัง สะโพก (Xanthoma) หรือที่เส้นเอ็น บริเวณเอ็นร้อยหวาย เอ็นข้อนิ้วมืออาจทำให้เส้นเอ็นมีลักษณะหนาตัว หรืออาจพบวงแหวนสีขาว ๆ ตรงขอบกระจกตาดำ

ไขมันในเลือดสูง และเข้าไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และหลอดเลือดตีบตัน ความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดโรคและอาการต่าง ๆ ได้แก่

  • กรณีเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ เมื่อไขมันไปเกาะสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งและตีบตัน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด
  • กรณีเกิดที่หลอดเลือดสมอง เมื่อไขมันไปเกาะสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดสมองแข็งและตีบตัน ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อมได้
  • กรณีเกิดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา ทำให้ปวดน่องมาก ๆ เวลาเดิน เป็นตะคริว ปลายเท้าเย็น เป็นแผลเรื้อรังที่เท้าหรือปวดขาหรือปลายเท้า
  • กรณีเกิดที่หลอดเลือดเลี้ยงอวัยวะเพศชาย ทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะองคชาตไม่แข็งตัว
  • กรณีเกิดที่หลอดเลือดไต ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ ทำให้ไตสูญเสียการทำงานและไตวายในที่สุด

แนะนำอ่าน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

 

สาเหตุ

อาจเกิดจากหลายสาเหตุหรือหลายปัจจัย แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ มีผลต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ทุกแบบ รวมถึงภาวะ HDL-cholesterol ต่ำ
  • พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวมาก ทำให้ LDL-cholesterol สูง การกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ทำให้ Triglyceride สูง การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้การเผาผลาญไขมันส่วนเกินเกิดได้น้อย การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่มากเกินไป
  • โรค ภาวะรวมถึงยาบางชนิด เช่น โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โลหิตเป็นพิษ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ยาเบต้าบล็อคเกอร์ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง ขณะที่โรคตับแข็ง โรคตับที่มีการอุดกั้นทางเดินน้ำดี โรคไตเนโฟรติก ทำให้คอเลสเตอรอลสูง บางกรณีอาจมีไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย
  • เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยทั้ง 2 เพศ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

 

การวินิจฉัย

การตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออยู่ในภาวะอ้วน, ผู้มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคเหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร ผู้มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วคราวหรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง หรือตับอ่อนอักเสบ สำหรับผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง โดยมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุก 5 ปี

โดยเกณฑ์ในการตัดสินภาวะผิดปกติของระดับไขมันในเลือดสำหรับคนทั่วไป (ไม่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง) เป็นดังนี้

[supsystic-tables id=3]

ในกรณีที่ค่าไขมันในเลือดตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติ แพทย์จะสืบหาสาเหตุโดยอาศัยการตรวจร่างกาย การซักประวัติสุขภาพบุคคลในครอบครัว โดยอาจมีการเจาะเลือด การตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะกรณีเป็นการเพิ่มเติม ทั้งนี้ สาเหตุของไขมันในเลือดสูงที่มาจากโรคหรือภาวะบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือดไม่เหมือนกัน รวมทั้งรูปแบบการรักษาและชนิดของยาที่จะตอบสนองแตกต่างกันด้วย

แนะนำอ่าน โรคอ้วน, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน

 

การรักษา

ถ้าพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ แพทย์จะวางแผนการรักษา โดยดูให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด หลักเบื้องต้นดังนี้

  1. ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเพียง 1 ข้อ เช่น ตรวจพบค่า LDL > 160 mg/dL ไม่มีความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ ไม่เป็นโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง เป็นต้น แพทย์จะทำการรักษาแบบไม่ใช้ยา โดยแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว เป็นระยะเวลา 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้าค่าไขมันที่ตรวจครั้งใหม่ยังสูงอยู่ แพทย์จะพิจารณาใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย แต่ถ้าตรวจพบค่า LDL > 190 mg/dL อยู่ในเกณฑ์สูงมาก แพทย์จะพิจารณาใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบไม่ใช้ยาทันที
  2. ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป เช่น ตรวจพบค่า LDL >130 mg/dL โดยผู้ป่วยติดบุหรี่และมีความดันโลหิตสูงให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาลดไขมันในเลือด 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้าค่าไขมันที่ตรวจครั้งใหม่ยังสูงอยู่ แพทย์จะพิจารณาใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา
  3. กรณีที่เป็นโรคเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดมาแล้ว ตรวจพบค่า LDL > 100 mg/dL ให้ใช้การรักษาแบบไม่ใช้ยา ถ้า LDL > 130 mg/dL แพทย์จะพิจารณาใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบไม่ใช้ยา

 

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

เป็นการแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

  • ปรับพฤติกรรมในด้านการกินอาหาร เช่น ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง เครื่องในสัตว์ กุ้ง หอย ปลาหมึก อาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง เช่น ไอศกรีม ขนมที่ทำจากแป้ง ขาหมู ไส้กรอก เนยแข็ง อาหารที่ทำโดยการผัดหรือทอด อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวสูง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมเค้ก ของหวาน ลูกอม รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในอาหารที่ให้ความหวาน โดยหันมาเน้นการกิน เนื้อปลา เนื้อไก่ โดยทำแบบแกง ต้ม ยำ นึ่ง อบหรือย่าง ผักสด ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ข้าวโพดต้ม แก้วมังกร กล้วย มันเทศ กะหล่ำปลี.
    แนะนำอ่าน เปลี่ยนชีวิต พิชิตคอเลสเตอรอล, 6 ข้อต้องรู้ สำหรับการกินเพื่อสุขภาพ
  • เพิ่มการออกกำลังกาย การออกกำลังกาย Zone 2 – 3 อย่างสม่ำเสมอ โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 61 – 80% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (Maximum heart rate) เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยานต่อเนื่องมากกว่า 30 นาที เป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดระดับไขมันชนิดต่าง ๆ และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดได้ ไม่ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วยก็ตาม.
    แนะนำอ่าน หัวใจสำคัญของการออกกำลังกาย
  • การลดน้ำหนัก สอดคล้องกับ 2 ข้อแรก หากคุมการกินอาหารได้ดี ประกอบกับออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หรือวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน จะช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงและช่วยเพิ่มระดับกลุ่มไขมัน HDL ได้

 

การรักษาแบบใช้ยา

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดให้เป็นปกติได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดไขมัน ซึ่งมีหลายกลุ่ม ได้แก่

  • ยากลุ่มสแตติน (Statin หรือ HMGCoA reductase inhibitor) มีประสิทธิภาพในการลดแอลดีแอลคอเลสเทอรอลในเลือด ตัวอย่างเช่น ซิมวาสแตติน (Simvastatin) พราวาสแตติน (Pravastatin) ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin)
  • ยาช่วยขจัดกรดน้ำดี (Resins หรือ Bile acid sequestrants) มีประสิทธิภาพลดระดับแอลดีแอลคอเลสเทอรอลได้ดี ตัวอย่างเช่น คอเลสไทรามีน (Cholestyramine) คอเลสทิพอล (Colestipol) คอเลสเซเวแลม (Colesevelam)
  • ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) มีประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง และเพิ่มเอชดีแอล คอเลสเตอรอล ตัวอย่างเช่น บีซาไฟเบรต (Bezafibrate) ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)
  • ยายับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล (Selective cholesterol absorption inhibitors) เช่น ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)
  • ยาอื่น ๆ เช่น วิตามิน บี 3 Niacin กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid)

ทั้งนี้ การใช้ยาให้ได้ผลสูงสุดขึ้นกับขนาดของยา รวมถึงยาตัวอื่นที่กินร่วมกัน และยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาลดไขมันกินเอง โดยควรกินยาตามแพทย์แนะนำเท่านั้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรตรวจระดับไขมันในเลือด โดยก่อนตรวจควรอดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง กรณีที่การตรวจครั้งแรกพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูง อาจจำเป็นต้องตรวจซ้ำอีก 1 – 2 ครั้ง ภายใน 1 เดือน เพราะการตรวจในแต่ละครั้งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้
  • ในการรักษาทั้งแบบใช้ยาหรือไม่ใช้ยา ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผู้ที่ใช้ยาต้องกินยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับผู้ที่รับการรักษาแบบไม่ใช้ยา โดยต้องปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

 

แหล่งข้อมูล

  1. http://www.srinagarind.md.kku.ac.th/New.pdf
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ไขมันในเลือดสูง, ไขมันในเลือดผิดปกติ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 485-489
    http://haamor.com/th

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก