สมาร์ทโฟน เครื่องมือสื่อสาร ที่หลายคนขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะสามารถเชื่อมต่อโลกโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันแล้ว บทบาทและการใช้ประโยชน์ก็ไม่ต่างจากการทำงานบนคอมพิวเตอร์ ที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งข้อมูลสำคัญ ๆ ซึ่งเรามักจะบันทึกเอาไว้มากมายด้วยความเคยชิน จนบางคนลืมไปว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลได้ง่าย ๆ เราควรต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยง และป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลในเบื้องต้น
1. ตั้งรหัสผ่าน
อุปกรณ์สมาร์ทโฟนทุกรุ่นเดี๋ยวนี้ มีฟังก์ชั่นการล็อคเครื่อง ผู้ใช้ควรตั้งระบบและกำหนดรหัสผ่านไว้ อย่ามองข้ามโดยเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก สำหรับในสมาร์ทโฟนรุ่นอัพเกรด ที่ทันสมัยมาก ๆ จะสามารถล็อคระบบด้วยลายนิ้วมือ ม่านตา หรือใบหน้าของเจ้าของได้ด้วย
2. อัพเดตข้อมูล
การกดอัพเดตข้อมูล เมื่อมีระบบแจ้งเตือนมาจากสมาร์ทโฟนโดยตรง นอกจากจะเป็นการตั้งค่าระบบความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่น หรือระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์นั้น ๆได้อีกด้วย และทุกครั้งก่อทำการอัพเดต ตรวจสอบหน้าตาของการแจ้งเตือนว่าเป็นข้อความที่มาจากระบบโดยตรง ไม่ใช่มาจาก E-Mail หรือ SMS แปลกปลอม
3. ติดตั้ง Two-factor authentication
Two-factor authentication เป็นระบบการยืนยันตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่ง ทุกครั้งที่เรามีการเข้าระบบ การลงชื่อเข้าใช้เมื่อกรอกรหัสถูกต้องแล้ว ระบบจะมีการขอรหัสผ่านอีกหนึ่งชุด โดยผู้ใช้จะได้รับรหัสผ่านจาก E-Mail , SMS ข้อดีคือ เวลาที่ชื่อและรหัสผ่านของคุณ ตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ พวกเขาเหล่านี้ก็จะไม่สามารถเปิดดูข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ เพราะรหัสอีกชุดหนึ่งจะถูกส่งผ่านเข้าสู่ E-Mail และโทรศัพท์เท่านั้น แถมยังทำให้คุณรู้ตัวด้วยว่ามีคนอื่นกำลังพยายามเข้าบัญชีใช้บัญชีของคุณอยู่
4. ระวังการใช้ Wi–fi สาธารณะ
อินเตอร์เน็ตสาธารณะ Free wi-fi เป็นการเชื่อมต่อที่ไม่ปลอดภัยสักเท่าไหร่ หากคุณต้องการที่จะซื้อของออนไลน์ หรือแม้แต่การส่งข้อมูลบางอย่าง ในระหว่างเดินทาง ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกขโมยข้อมูลได้ ดังนั้น ก่อนจะทำการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะ ควรตรวจสอบชื่อของสถานที่ หรือร้านอาหารให้แน่ใจเสียก่อน หากไม่แน่ใจจริง ๆ ให้สอบถามกับพนักงานเป็นอันดับแรก และควรใช้กับเรื่องพูดคุยทั่วไปเท่านั้น ไม่ควรทำธุรกรรม เช่น เรื่องของเงิน รหัสบัตร การซื้อของออนไลน์ เข้าเว็บไซต์ธนาคาร เป็นต้น
5. ไม่คลิกลิงค์ทุกอย่างที่เห็น
ลิงค์ตามสื่อโชเชียลมีเดียต่าง ๆ ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% อย่างโฆษณา การแชร์ข่าวบน Facebook ที่มีการส่งต่อ ๆ กันมา ซึ่งลิงค์ หรือข้อมูลเหล่านี้ อาจจะเป็นบัญชีที่มิจฉาชีพได้ปลอมขึ้นมา เพื่อปล่อยสแปม และหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ดังนั้นก่อนที่จะมีการกรอกหรือเปิดดูลิงค์ใด ๆ ก็ตาม ควรตรวจสอบก่อนว่ามีต้นตอมาจากไหน ใครส่งมา
6. ใช้แอปพลิเคชั่นโดยตรงเท่านั้น
ทุกครั้งที่คุณมีการใช้งานต่าง ๆ ควรเลือกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นโดยตรง โดยการโหลดแอปพลิเคชั่นเหล่านี้มักมีคำว่า Official หรือถ้าไม่ ก็ดูที่การให้ดาว หรือ Feedback ที่ผู้ใช้รายอื่นรีวิวไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณใช้บริการจากผู้ผลิตจริง ๆ ไม่ใช่แอปพลิเคชั่นปลอมที่มิจฉาชีพทำหลอกขึ้น เพื่อลวงเอาข้อมูล
7. ใช้งาน Virtual private network
ปัจจุบัน การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีอยู่ทุกที ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม สนามบิน เราสามารถใช้งานได้ทุกเวลาที่เราต้องการ แต่การใช้อินเตอร์เน็ตสาธารณะที่เปิดให้ใช้บริการนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการโดนขโมยข้อมูล แนะนำให้คุณใช้งาน Virtual private network ซึ่งก็คือเครือข่ายส่วนตัว ที่ง่ายที่สุดคือเปิดบริการโดยตรงกับค่ายมือถือต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยจากการถูกดักเอาข้อมูลจากคนภายนอก
เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน สิ่งอำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกับภัยคุกคามซึ่งมองไม่เห็น ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรเรทำคือ การใช้อย่างมีสติ อย่าให้ความเพลิดเพลินมาบดบังมุมมองความความปลอดภัย เพราะการปล่อยปละละเลย ความประมาท ความชะล่าใจ เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงตัวคุณได้
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com