หลายคนเข้าใจว่า “ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative disc)” เป็นภาวะที่มักจะพบในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมเกิดขึ้นในร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า จากสถิติของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังนั้น มีเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุและในหลากหลายอาชีพ ซ้ำแล้วในวัยทำงานอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คืออายุตั้งแต่ 25 – 50 ปี ยังพบว่ามีผู้ที่ประสบภาวะนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย
สาเหตุสำคัญ
ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการหลัก
- การสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่น นั่งนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอริยาบท นั่งขับรถเป็นระยะทางไกล ๆ เป็นกิจวัตร
- การยกของหนัก
- การเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง ส่งผลให้กระดูกเสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร
อาการที่พบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ที่เอวระดับเข็มขัดและอาจร้าวลงไปถึงบริเวณด้านข้างของสะโพก ในบางรายที่มีอาการเฉียบพลัน เช่น ไปยกของหนักมีอาการเจ็บหลังร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งทันที แสดงว่า เกิดปริแตกหรือโป่งยื่นของหมอนรองกระดูก ทำให้มีส่วนเนื้อในของหมอนรองกระดูก (Nucleus) โป่งหรือทะลักออกมา ไปกดทับเส้นประสาทที่ไปขา บางรายจะมีอาการชาและทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา อ่อนแรงของเท้า ทำให้เดินลำบาก ผู้ป่วยลักษณะนี้จะมีภาวะที่เรียกว่า “Acute Herniated Disc Syndrome” ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน
อาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อ ๆ ระดับเข็มขัดอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้าง ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น มีอาการปวดเมื่อนั่งนาน ขับรถนาน ยืนนาน หรือเดินนาน บางรายอาจนั่งได้เพียง 10 – 15 นาทีก็จะมีอาการ แต่เมื่อนอนพักอาการปวดจะทุเลาลง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการกดทับเส้นประสาทมากจะมีอาการปวดร้าวลงขา บางรายมีอาการชาและอ่อนแรงของขาหรือเท้าตามเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ
http://discmdgroup.com/degenerative-disc-disease/
แนวทางในการรักษา
สิ่งแรกแพทย์ต้องจะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไร มีลักษณะผิดปกติอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง พร้อมกับแนะนำวิธีการดูแลรักษาตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือโป่งยื่น ส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด (ประมาณกว่า 90% ของผู้ป่วย)” แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบ ๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้อาการปวดลดลงได้ และอาจใช้การทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชาและอ่อนแรง อาจให้ยาบำรุงเส้นประสาท หรือบางรายที่อาการรุนแรงอาจต้องหยุดพักงาน 2 – 3 วัน จากนั้นจะเริ่มกลับไปมีกิจวัตรประจำวันตามปกติ อีกแนวทางอีกวิธี คือ การฉีดยารอบเส้นประสาท (Selective nerve block) ด้วยการฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและระงับปวดบริเวณเส้นประสาท ในกรณีที่รักษาแบบเบื้องต้นดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น
การผ่าตัด
สำหรับข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยสมควรเข้ารับการผ่าตัด คือ การรักษาด้วยวิธีการพื้นฐานไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการชา หรืออ่อนแรงมากขึ้น มีอาการชารอบก้น อั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่อยู่ เรียกภาวะนี้ว่า “CaudaEquina Syndrome“ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันที
เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการส่งตรวจ MRI เพื่อดูลักษณะของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นหรือสึกหรอ การผ่าตัดจะเป็นการตัดชิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นออกมาเท่านั้น เรียกว่า “Discectomy” ซึ่งมีเทคนิคหลายวิธี ตั้งแต่เปิดแผลผ่าตัดขนาด 10 เซนติเมตร จนถึงการผ่าตัดเล็ก ขนาด 1 – 2 เซนติเมตร โดยใช้เทคนิคไมโครสโคปเข้าช่วย (Microdiscectomy) ซึ่งหลังการผ่าตัด คนไข้จะพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1 – 2 วัน จากนั้นสามารถกลับบ้านได้ แต่จะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
ข้อที่ต้องหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดอย่างน้อย 3 เดือน คือ ห้ามยกของหนัก ห้ามก้มเก็บของหรือเอี้ยวบิดตัวรุนแรง หลีกเลี่ยงการไอจาม การเบ่งถ่ายอุจจาระ ทั้งนี้เนื่องจากจะทำให้เกิดแรงดันในช่องหมอนรองกระดูกสันหลังสูงขึ้น เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บขึ้นได้ และไม่ควรนั่งนานเกิน 1 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ต้องหมั่นเปลี่ยนอิริยาบทบ่อย ๆ ด้วยการลุก ยืน เดิน พร้อมกับการบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง
เมื่อผ่าตัดแล้ว จะหายขาดหรือไม่
หลังการผ่าตัดอาการจะดีขึ้นอย่างชัดเจน และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนโอกาสที่จะเกิดซ้ำมีประมาณ 5% ส่วนใหญ่เกิดซ้ำในปีแรก โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด เรียกว่าเป็นช่วง 3 เดือนอันตราย ขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง และลักษณะการโป่งยื่นของหมอนรองกระดูก
ส่วนวิธีการรักษาโดยใช้เลเซอร์คลื่นความถี่สูง (RADIOFREQUENCY : RF) และขดลวดความร้อน อาจนำมาใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่ผลของการรักษาโดยวิธีดังกล่าวนี้ได้ผลเพียงชั่วคราว ซึ่งบางรายก็อาจไม่ได้ผล กรณีของการรักษาโดยนักจัดกระดูก (Chiropractor) โดยถ้ามีการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีการพิจารณาเลือกรักษาได้ แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขา โดยเฉพาะมีอาการชาและอ่อนแรง ไม่แนะนำให้รับการจัดกระดูก เพราะอาจทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทมากขึ้นและอาการเลวลงได้
สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือโป่งยื่น ก็คือการใช้หลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายและการทำงาน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง สามารถช่วยพยุงให้สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ดังนั้น เมื่อคุณมีอาการปวดหลังและร้าวลงขาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้นเนื่องจากหมอนรองกระดูกเสียหายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษามากตามไปด้วย
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
รศ.นพ.อารีศักดิ์ โชติวิจิตร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางกระดูกสันหลังและการผ่าตัดข้อเทียม
ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH)
ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ใต้รูปภาพ