Health4senior

ระบบประสาท (Nervous system)

ระบบประสาท (Nervous system) เป็นระบบที่ควบคุมการทำหน้าที่ของทุกระบบในร่างกาย  ให้ทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอก และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการจัดการ ความคิด ความรู้สึก สติปัญญา ความฉลาดไหวพริบ การตัดสินใจ การใช้เหตุผลและการแสดงอารมณ์

 

อวัยวะที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถแบ่งอวัยวะในระบบประสาทออกตามตำแหน่งและโครงสร้าง ได้ดังนี้
อวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่รวบรวม ประมวลผล และสั่งการไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ประกอบด้วย
  1. สมอง (Brain)
    • สมองส่วนหน้า (Forebrain) ประกอบด้วย
      • ซีรีบรัม (Cerebrum) หรือสมองใหญ่ เป็นสมองส่วนที่อยู่บนสุดของศีรษะ มีรอยหยักเป็นจำนวนมาก ขนาดใหญ่เป็น 85% ของเนื้อเยื่อสมอง แบ่งเป็น 4 พู ได้แก่ 1) พูหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ 2) พูขมับ (Temporal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น 3) พูหลัง (Occipital lobe) ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น และ 4) พูข้าง (Parietal lobe) ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกด้านการสัมผัส การพูด การรับรส
      • ธาลามัส (Thalamus) เป็นศูนย์รวมของกระแสประสาททั้งหมดที่มาจากอวัยวะทั่วร่างกาย และส่งกระแสประสาทนั้น ไปยังส่วนของสมองที่ควบคุมกับเรื่องนั้นๆ รวมถึงการรับรู้ สั่งการ และแสดงออกด้านความเจ็บปวด
      • ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) อยู่ใต้ธาลามัสติดกับต่อมใต้สมอง (Pituitary grand) ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมบางอย่าง รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ การกิน การกระหายน้ำ การหนีภัย การต่อสู้ การรักษาสมดุลของร่างกาย รวมทั้งการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย พฤติกรรมทางเพศ รวมถึงวงจรนาฬิกาชีวภาพ
    • สมองส่วนกลาง (Midbrain) อยู่ต่อจากสมองส่วนหน้า ในคนสมองส่วนนี้จะถูกซีรีบรัมบังเอาไว้ มีหน้าที่เป็นสถานีเชื่อมต่อการทำงานระหว่างสมองส่วนหน้ากับสมองส่วนท้าย รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตาและม่านตา
    • สมองส่วนท้าย (Hindbrain) ประกอบด้วย
      • ซีรีเบลลัม (Cerebellum) หรือสมองน้อย มีหน้าที่หลักในการควบคุมการทรงตัว ควบคุมและประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย
      • เมดุลลา (Medulla oblongata) เป็นทางผ่านของกระแสประสาทจากไขสันหลังกับสมอง โดยเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ ร่วมกับไฮโปธาลามัส ควบคุมการเต้นของหัวใจการหายใจ การกลืน จาม สะอึก
      • พอนส์ (Pons) ควบคุมการเคี้ยว กลืน หลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวใบหน้า
        โดยภายนอกของสมองจะมีชั้นของเยื่อหุ้มสมอง (Meninges) อยู่ 3 ชั้น ทำหน้าที่ป้องกันสมองถูกกระทบกระเทือน และมีเส้นเลือดฝอยนำอาหารมาเลี้ยงสมองอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในระหว่างเยื่อหุ้มสมองชั้นกลางกับชั้นใน ยังมีของเหลวที่เรียกว่า น้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือน ช่วยนำอาหารไปเลี้ยงสมองและไขสันหลัง รวมถึงช่วยรักษาความดันสมองให้คงที่
  2. ไขสันหลัง (Spinal cord) เป็นเนื้อเยื่อประสาท มีลักษณะเป็นท่อทรงผอม ต่อลงมาจากสมองส่วนเมดุลลา ยาวประมาณ 42 – 45 ซม. บรรจุอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง (Vertebral canal) มีเยื่อหุ้มไขสันหลัง (Meninges) หุ้มภายนอก ไขสันหลังมีหน้าที่เชื่อมโยงสัญญาณประสาทระหว่างสมองกับเส้นประสาทไขสันหลังซึ่งเชื่อมอยู่กับอวัยวะทั่วร่างกาย
อวัยวะในระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System : PNS) ประกอบด้วย
  1. เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) เป็นเส้นประสาทที่แยกออกจากสมองโดยตรง มีหน้าที่นำกระแส ประสาทระหว่างสมองและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เส้นประสาทสมองมี 12 คู่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามหน้าที่ โดยกลุ่มที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกอย่างเดียว มี 3 คู่ กลุ่มที่ทำหน้าที่สั่งการอย่างเดียว มี 5 คู่ และกลุ่มที่ทำหน้าที่ทั้งรับความรู้สึกและสั่งการมี 4 คู่
  2. เส้นประสาทไขสันหลัง (Spinal nerve) เป็นเส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลัง มีหน้าที่นำกระแสประสาทที่เป็นทั้งรับความรู้สึกและสั่งการ เส้นประสาทไขสันหลังมี 31 คู่ แบ่งตามตำแหน่งได้เป็น เส้นประสาทคอ 8 คู่ เส้นประสาทอก 12 คู่ เส้นประสาทเอว 5 คู่ เส้นประสาทกระเบนเหน็บ 5 คู่ เส้นประสาทก้นกบ 1 คู่
โดยโครงสร้างหน่วยย่อยที่สำคัญของระบบประสาท คือ
  • เซลล์ประสาท (Neuron หรือ Nerve cell) ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ตัวเซลล์ (Cell body) และส่วนที่ยื่นออกนอกตัวเซล์ คือ เดนไดรต์ (Dendrite) ทำหน้าที่รับกระแสประสาทเข้าสู่เซลล์ มีหลายแขนง และแอกซอน (Axon) ทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทออกจากเซลล์ มีความยาวมากกว่าเดนไดรต์และมีแขนงเดียว และมีแผ่นไมอีลิน (Myelin sheath) หุ้มอยู่เป็นปล้อง ๆ ทำให้การส่งกระแสประสาทมีความเร็วมากขึ้น
  • สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) การส่งกระแสประสาทในระบบประสาทนั้น บางจุดที่ไม่มีการเชื่อมต่อกันโดยตรง เช่น ระหว่างเซลล์ประสาทด้วยกันเอง หรือปลายเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ ตรงจุดเชื่อมต่อนี้ ต้องอาศัยสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสารเคมีที่สร้างจากปลายเซลล์ประสาทหรือตัวเซลล์ประสาท และหลั่งออกจากปลายประสาท เพื่อเป็นตัวนําสัญญาณประสาท (Neurotransmission) ผ่านรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาท ที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse) หรือช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ เพื่อให้วงจรการทำงานของระบบประสาทเกิดความสมบูรณ์ และเกิดการทำงานขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สารเคมีที่พบว่าเป็นสารสื่อประสาท แบ่งออกเป็น 1) สารสื่อประสาทกลุ่มโคลิเนอร์จิค (Cholinergic) 2) สารสื่อประสาทกลุ่มอะดรีเนอร์จิค 3) สารสื่อประสาทกลุ่มซีโรโตนีน (Serotonin)  4) สารสื่อประสาทที่เป็นกรดอะมิโน (Amino group)  5) สารสื่อประสาทนิวโรเปปไตด์ (Neuropeptide) 6) ฮีสตามีน (Histamine)
  • เส้นประสาท (Nerve) คือ มัดของแอกซอนหลาย ๆ อันที่ยื่นยาวออกจากตัวเซลล์ประสาท รวมกันอยู่ภายในเยื่อหุ้มเส้นประสาท โดยมีทั้งเส้นประสาทนำเข้า (Afferent nerve) หรือเส้นประสาทรับความรู้สึก ที่จะนำความรู้สึกจากอวัยวะต่าง ๆ เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทนำออก (Efferent nerve) หรือเส้นประสาทสั่งการ ที่จะนำคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะทั่วร่างกาย ทั้งนี้แอกซอนของเส้นประสาทนำเข้า และแอกซอนของเส้นประสาทนำออก อาจรวมอยู่ในเส้นประสาทเดียวกันได้ เรียก เส้นประสาทระคน (Mixed nerve)
.

การทำงานของระบบประสาท

ระบบประสาทส่วนกลาง อันประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง และระบบประสาทส่วนปลาย อันประกอบด้วยเส้นประสาทสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง ทั้ง 2 ระบบจะทำงานร่วมกัน โดยเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย กระแสประสาทนำความรู้สึกจะถูกส่งจากปลายประสาทที่อวัยวะนั้นๆ ซึ่งอยู่ในระบบประสาทส่วนปลาย เข้าสู่เส้นประสาทต่างๆ และเข้าสู่ไขสันหลังซึ่งอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อมต่อเข้ากับสมองเพื่อทำการประมวลผล เกิดอารมณ์ การเรียนรู้ และการจดจำ หลังจากนั้นสมองจะส่งกระแสประสาทที่เป็นการสั่งการ ส่วนหนึ่งผ่านสู่เส้นประสาทสมองกลับไปยังอวัยวะเป้าหมาย อีกส่วนผ่านเข้าสู่ไขสันหลัง กลับไปยังเส้นประสาทไขสันหลัง ไปถึงปลายประสาทในอวัยวะเป้าหมาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ตามคำสั่งของสมอง

ทั้งนี้การสั่งการจากสมอง หรือระบบประสาทสั่งการ (Motor nerves) จะมีทั้งแบบที่ร่างกายสามารถควบคุมได้ โดยมีผลไปยังกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton muscle) เช่น การขยับกล้ามเนื้อแขน ขา ทำให้มีการเดิน วิ่ง นั่ง รวมถึงปฏิกิริยาตอบกลับที่เป็น Reflex บางอย่าง รวมเรียก ระบบประสาทกาย (Somatic nervous system) และแบบที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ อยู่นอกการควบคุมของจิตใจ โดยมีผลกับกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) และต่อมต่าง ๆ เช่น การบีบตัวของอวัยวะภายใน หัวใจ ทางเดินอาหาร ปอด หลอดเลือด การหลั่งฮอร์โมน เรียก ระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic nervous system)

ทั้งนี้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ระบบย่อย คือ ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) เน้นการเพิ่มการใช้พลังงาน ทำให้ร่างกายตื่นตัว มีอัตราเมตาบอลิซึมสูงขึ้น กับระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system) เน้นการเพิ่มการทำงานของอวัยวะ เพื่อให้ได้พลังงานและเก็บพลังงานไว้ใช้

 

โรคระบบประสาทที่พบบ่อย

เวียนศีรษะ   ไมเกรน   โรคหลอดเลือดสมอง   โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์   โรคนอนไม่หลับ   โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง   โรคเหน็บชา
  • เวียนศีรษะ เวียนศีรษะไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค เหมือนกับอาการปวดศีรษะ อาการไข้การรักษาจึงต้องหาสาเหตุเพื่อทำการรักษา โดยอาการเวียนศีรษะนี้ จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ บางสาเหตุสามารถหายเองได้ เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการปรับตัว ในขณะที่บางสาเหตุต้องได้รับการรักษา
  • ไมเกรน เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง โดยมักปวดบริเวณศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง ในขณะที่ปวดก็มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงและแสงสว่างมากกว่าปกติ  ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
  • โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เซลล์สมองค่อย ๆ ตายลง และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
  • โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้มากที่สุด ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา อาการของโรคจะเริ่มจากการหลงลืมที่ไม่รุนแรงจนแย่ลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นไม่สามารถสนทนาโต้ตอบ หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง
  • โรคนอนไม่หลับ ผู้ที่มีอาการของโรคนอนไม่หลับมักพบตนเองตื่นนอนเร็ว และหลับต่อไม่ได้ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียจากการนอนหลับไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดปัญหากับการปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวัน
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ยิ้มได้น้อยลง หายใจลำบาก มีปัญหาการพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันการรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการ
  • โรคเหน็บชา เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุหลักมาจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง ต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม โดยผู้ป่วยจะมีอาการทางคลินิกหลายแบบขึ้นอยู่กับอายุและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.livescience.com  www.haamor.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก