Health4senior

ไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คือ โรคที่มีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งค่านี้ได้มาจากการเก็บข้อมูลทางสถิติของระดับไขมันในเลือดของคนสุขภาพดีทั่วไป โดยพบว่าเมื่อมีค่าเกินระดับหนึ่งแล้ว คน ๆ นั้นก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองและหลอดเลือดตามอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย ทั้งนี้ระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมของแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้จากอายุ เพศ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ภาวะสุขภาพ และปัจจัยด้านอื่น ๆ โรคนี้มีแนวโน้มพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในผู้ที่มีอายุมากสูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย

 

ไขมันในร่างกาย

ปกติร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ โดย

  • คอเลสเตอรอล (Cholesterol) แบ่งเป็น
    • ไคโลไมครอน (Chylomicron) ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ได้จากอาหาร นำไปสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน ถูกสร้างจากเยื่อบุลำไส้เล็ก ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 84
    • วี แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล (Very Low Density Lipoprotein, VLDL-c) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำมาก ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากตับไปยังผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อ ร่างกายสร้างขึ้นจากตับและลำไส้เล็กเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 51
    • แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล (Low-Density Lipoprotein: LDL-c) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีมากกว่าที่เซลล์ต้องการก็จะไปสะสมที่บริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ จัดเป็นคอเลสเตอรอลหรือไขมันที่ไม่ดี มีมากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
    • เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (High-Density Lipoprotein: HDL-c) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดชนิดความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่ในการนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์กลับไปยังตับ เพื่อทำลายหรือขับออกในรูปของเสียจากร่างกาย จัดเป็นคอเลสเตอรอลหรือไขมันที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบได้
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันประเภทหนึ่ง ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ทำให้รู้สึกอิ่มท้อง และให้พลังงานเมื่อร่างกายต้องการ แต่มีการสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้เช่นกันเมื่อมีปริมาณสูงมาก ๆ แต่จะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันชนิดคอเลสเตอรอล

จะเห็นว่า “ไขมัน”  เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะร่วมกับสารอาหารในหมู่อื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบถ้วน อย่างไรก็ตามการบริโภคไขมันในปริมาณที่สูงเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
โดยปกติแล้วโรคไขมันในเลือดสูงจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น โดยมักแสดงอาการในกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการรุนแรง หรือสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยอาจพบพบก้อน ตุ่มนูนหรือปื้นตรงกลางสีเหลือง ตรงขอบ ๆ อาจเป็นตุ่มพุพองสีแดง ที่เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลขนาดเล็ก ๆ บริเวณผิวหนัง ข้อศอก ข้อเข่า แขนขา แผ่นหลัง เส้นเอ็น ก้นหรือเปลือกตา ซึ่งอาจมีอาการคันได้ หรืออาจพบเอ็นร้อยหวายหนาตัวผิดปกติ หรือเส้นวงสีขาวเกิดขึ้นระหว่างตาขาวกับตาดำ

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
ไม่ควรรอไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ เพราะระดับไขมันในเลือดอาจสูงมานานจนเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจหาระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้

  • มีอายุมากกว่า 40 ปี
  • มีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
  • มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเกี่ยวระบบหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร
  • มีสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
  • ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Artery Disease: PAD)
  • มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง
    (Underactive Thyroid) หรือตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

 

ภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีที่ระดับคอเลสเตอรอลสูงมาก ผู้ป่วยไม่รู้เพราะไม่ได้ไปตรวจหรือไปตรวจแต่กลับมาควบคุมได้ไม่ดีพอ นานไปคอเลสเตอรอลจะค่อย ๆ ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดงได้ทั่งร่างกาย จนทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และตีบลงจนอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไขมันอุดตันหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไขมันอุดตันหลอดเลือดเลี้ยงสมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (อัมพฤกษ์) ไขมันอุดตันหลอดเลือดเลี้ยงไต เป็นเหตุทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ หรือทำให้หัวใจต้องทำงานหนักทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกได้

 

สาเหตุ

เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
  • ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid), Cushing syndrome
  • มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด เช่น ทานอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายน้อย ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่จัด
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์
  • การมีกระบวนการเมตาบอลิซึมของไขมันที่ผิดปกติเอง

 

การวินิจฉัย

การเจาะเลือดตรวจระดับไขมันในเลือด แพทย์จะเจาะและวัดค่าไขมัน 4 ค่า ซึ่งมีเกณฑ์วัดระดับคอเลสเตอรอลระบุไว้ดังนี้

  • ระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
    ปกติ : น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูงเล็กน้อย : 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูง : มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับแอล ดี แอล (LDL-c) หรือคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี
    ปกติ : น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    ใกล้เคียงปกติ : 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูงเล็กน้อย : 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูง : 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูงมาก : มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับเอช ดี แอล (HDL-c)
    ต่ำ : น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูง : มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
    ปกติ : ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูงเล็กน้อย : 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูง : 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    สูงมาก : มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ในการสรุปผลการตรวจ จะดูที่ระดับ LDL-c ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีเป็นหลัก หากมีระดับที่สูงแปลว่าผู้ตรวจมีคอเลสเตอรอลสูง ขณะที่ระดับคอเลสเตอรอลรวม หากมีอยู่ในระดับสูงก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ แต่อาจระบุได้ว่ามีความผิดปกติ ต้องดูที่ระดับ LDL-c ร่วมด้วย ส่วนระดับ HDL-c ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี หากมีสูงก็จะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้

หลังจากได้ค่าไขมันชนิดต่าง ๆ แล้วพบว่ามีความผิดปกติ อันดับแรกจะต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากมีโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ระดับไขมันผิดปกติอยู่หรือไม่ หากไม่พบสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ระดับไขมันผิดปกติดังกล่าวแล้ว จะต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามชนิดของไขมันที่วัดได้ผิดปกติ และพยายามหาสาเหตุ โดยอาศัยการตรวจร่างกาย เช่น การดูก้อนไขมัน การซักประวัติของโรคไขมันสูงในครอบครัว การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุของแต่ละโรคที่ทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูงนั้น ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดไม่เหมือนกัน รวมทั้งการเลือกรูปแบบการรักษาและชนิดของยาที่จะตอบสนองก็ต่างกัน

 

การรักษา

การรักษาโรคไขมันในเลือดสูงขึ้นอยู่กับจำนวนความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

  • ถ้าไม่มีความเสี่ยงเลยหรือมีความเสี่ยงเพียง 1 ข้อ : ค่า LDL > 160 mg/dl ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาลดไขมันในเลือด 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้ายัง >160 ให้ใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย แต่ถ้าค่า LDL > 190 ก็ให้เริ่มใช้ยาไปเลยควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา
  • ถ้ามีความเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป : ค่า LDL >130 ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาลดไขมันในเลือด 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้ายัง > 130 ให้ใช้การรักษาโดยใช้ยาควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา.
    ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดมาแล้ว ค่า LDL > 100 ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยา ถ้า LDL > 130 ให้ใช้ยาควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

  • การควบคุมอาหาร ผู้ป่วยที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูงจะต้องลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 300 mg ต่อวัน โดยอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ติดมัน กุ้ง หอย ปลาหมึก ไข่ปลา เป็นต้น และต้องลดอาหารประเภทไขมันให้น้อยกว่า 30% ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับต่อวัน (โดยเฉลี่ยคือ 1,500 – 2,000 กิโลแคลอรี/วัน) โดยต้องเป็นอาหารที่กรดไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 10% ซึ่งอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงพบมากในอาหารผัด ทอด ที่ใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม เนย หรืออาหารที่ใช้กะทิ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงต้องลดอาหารประเภทแป้งขัดสี เช่น ขนมปังชนิดต่าง ๆ รวมถึงปาท่องโก๋ โดนัท เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นสปาเกตตี มักกะโรนี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น และอาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • การออกกำลังกาย จะช่วยลดระดับไขมันชนิดต่าง ๆ ได้และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL แต่ที่สำคัญคือการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดได้ แม้มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วยก็ตาม
  • การลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินต้องลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงและช่วยเพิ่มระดับกลุ่มไขมัน HDL ได้

การรักษาโดยใช้ยา
จุดประสงค์หลักของการใช้ยาลดไขมัน คือ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันในคนที่ยังไม่เป็น และหากเกิดแล้วก็เป็นการป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีกโดยแนวทางการรักษาได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มุ่งลดระดับ LDL-c ให้อยู่ในค่าที่ต้องการ มาเป็นการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่า โดยมียาที่แพทย์สามารถเลือกใช้

  • ยากลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitor (HMG-CoAR) รู้จักกันในชื่อที่ลงท้ายว่า Statin เช่น atorvastatin, rosuvastatin, simvastatin, pravastatin, pitavastatin ยาในกลุ่มนี้ลด LDL-c ได้ร้อยละ 18 – 55% เพิ่ม HDL-c ได้ร้อยละ 5 – 15% และลด TG ได้ร้อยละ 7 – 30% พบว่าการให้ยานี้เพื่อลดไขมันจะทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง
  • ยากลุ่ม Fibric acid derivatives (Fibrates) ยากลุ่มนี้ใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับ HDL-c ในเลือด สามารถลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ในผู้ป่วยที่มีไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 200 mg/dl ยามีผลข้างเคียงและข้อห้ามในการใช้
  • ยากลุ่ม Nicotinic acid และ analogue จัดเป็นวิตามินบี ยากลุ่มนี้ลด LDL-c ได้ 5 – 25% เพิ่ม HDL-c 15 – 35% ลด Triglycerideได้ร้อยละ 20 – 50 ยามีผลข้างเคียงและข้อห้ามในการใช้
  • ยากลุ่ม Bile acid sequestrants (Cholestyramine) ยากลุ่มนี้ลด LDLได้ร้อยละ 15 – 30% และเพิ่มระดับ HDLได้ร้อยละ 3 – 5% ยามีผลข้างเคียงและข้อห้ามในการใช้
  • น้ำมันปลา (Fish oil) สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้

ยาลดไขมันทุกชนิดมีข้อบ่งชี้ในการใช้ ขนาดในการใช้ ข้อห้ามและผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์แนะนำเท่านั้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • กินให้ถูกโภชนาการ กองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ออกข้อปฏิบัติในการกินเพื่อสุขภาพดีหรือธงโภชนาการ โดยแต่ละมื้อควรมีอาหารหลักครบ 5 หมู่ ในแต่ละหมู่ควรมีเมนูที่หมุนเวียน ไม่จำเจ โดยกินให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องมี กลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวขัดสีน้อยสลับกับแป้งมากที่สุด ต่อด้วยกลุ่มวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ต่อด้วยกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ไข่ นม และทานน้ำมัน น้ำตาล เกลือ เท่าที่จำเป็น.หากน้ำหนักตัวเกินและต้องการลดน้ำหนักอาจแบ่งอาหารในจาน ออกเป็น 4 ส่วน เน้นวิตามิน เกลือแร่จากผักและผลไม้ 2 ส่วนหรือ 50% โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ไข่ นม เป็น 1 ส่วน และลดข้าวหรือแป้งเหลือ 1 ส่วนในแต่ละมื้อ
  • ออกกำลังกายให้หนักพอเหมาะ สม่ำเสมอทุกอาทิตย์ ควรออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเต้นแอโรบิค ให้หัวใจเต้นอยู่ในโซน 2 – 3 ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที  3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันส่วนเกินของร่างกาย
    นอกจากนี้ควรจัดเวลาออกกำลังเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกายควบคู่ไปด้วย
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับเพศและวัย ดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับส่วนสูง เบื้องต้นคำณวนจากค่า BMI โดยค่า BMI มากกว่า 25 ถือเป็นการเริ่มต้นโรคอ้วน และเสี่ยงต่อการเป็นไขมันในเลือดสูงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • งดหรือลดเหล้า บุหรี่และแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มหรือสูบจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคในระบบอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพเป็นการตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ซ่อนอยู่ หรือภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค การตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยเฉพาะ การตรวจหาระดับไขมันในเลือดและพบในระยะเริ่มต้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการปรับพฤติกรรมและการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ซื้อยาทานเองและพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน

 

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.srinagarind.md.kku.ac.th
  2. www.siamhealth.net
  3. https://med.mahidol.ac.th/medicalrecord/th/content/Lipid-th

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก